Economics 9 Nov 2023, 23:16

Economics – 3Q23 GDP ไม่ได้แย่ทั้งหมด


3Q23 GDP ขยายตัวในระดับที่น่าผิดหวังที่ 1.5% y-y และ 0.8% q-q อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของสินค้าคงเหลือ ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนหลักไม่ได้แย่แต่อย่างใด การบริโภคที่ดีกว่าคาดมาก ขณะที่การท่องเที่ยว การลงทุน และการส่งออก เป็นไปตามคาด

ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือกดดัน 3Q23 GDP

ผลิตภัณฑ์ประชาชาติที่แท้จริง (Real GDP) ของไทยใน 3Q23 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5% y-y และ 0.8% q-q อย่างไรก็ตาม รายการที่ผิดคาดอย่างมากมีอยู่เพียงรายการเดียว นั่นคือส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือซึ่งหดตัว 9.8 หมื่นลบ. เทียบกับเพิ่มขึ้น 8.2 หมื่นลบ. ใน 3Q22 ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อการเติบโต GDP ถึง 1.6% ขณะที่ตัวชี้วัดอื่นไม่ได้แย่ โดยการบริโภคภาคเอกชนดีกว่าคาด เร่งตัวขึ้นอีกเป็น 8.1% y-y ใน 3Q23 ขณะที่การส่งออกบริการ ซึ่งได้แก่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวตามคาดที่ 32% y-y การส่งออกทำได้ดีกว่าภูมิภาค โดยลดลงเพียง 2% y-y ขณะที่การนำเข้าลดลงมากกว่าที่คาดที่ 11% y-y การลงทุนค่อนข้างทรงตัว แต่การบริโภคภาครัฐลดลงเกินคาดที่ 5% y-y

ภาคบริการแข็งแกร่ง ขณะที่ภาคการผลิตยังคงอ่อนแอ

เรามองการลดลงของสินค้าคงเหลือ ในขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อน GDP ตัวอื่นยังคงดีนั้น ได้แสดงถึงแนวโน้มที่จะอ่อนแอต่อไปอีกของการส่งออก และแสดงถึงเศรษฐกิจกำลังถูกขับเคลื่อนโดยภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่อ่อนแอกว่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ภาคบริการฟื้นตัวหลังโควิด ขณะที่ความต้องการสินค้าอ่อนแอลง เราคาดว่าแนวโน้มจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอจะยังคงทำให้การส่งออกของไทยอ่อนแอ และเศรษฐกิจน่าจะต้องพึ่งพาการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นหลักต่อไป

ปรับคาดการณ์ GDP

เราปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ลงเหลือเพียง 2.2% (จาก 2.9%) ในปี 2023F แต่ยังคงคาดการณ์การขยายตัวจากฐานที่ต่ำลงที่ 3.5% ต่อปี ในปี 2024-25F เช่นเดิม ซึ่งการปรับลงนี้จะเน้นไปที่ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ ขณะที่ปรับปัจจัยขับเคลื่อนหลักอื่นๆ เล็กน้อย โปรดดูรายละเอียดใน Exhibit 1 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2024F เรามองว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวต่อเนื่อง การส่งออกยังคงอ่อนแอ มูลค่าการนำเข้าลดลง ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน และได้แรงหนุนมากขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เราเห็นแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งมีน้ำหนักต่อ GDP ต่ำกว่าการลงทุนภาคเอกชนมาก

Digital wallet มีความไม่แน่นอนสูง

เรามองระดับความเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินนโยบาย digital wallet มูลค่า 5 แสนลบ. น้อยกว่าแต่ก่อนมาก หลังจากที่ล่าสุดรัฐบาลมีแผนที่จะย้ายนโยบายนี้ออกจากงบประมาณประจำปกติปี 2024F ไปใช้ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ใหม่ที่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงจากรัฐสภา ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวนี้มีประเด็นทางกฎหมายหลายประเด็นที่ทำให้เกิดขึ้นยาก หนึ่งในนั้นคือการพิสูจน์ถึงความจำเป็นเร่งด่วนของนโยบายนี้ ในมุมมองของเรา นโยบายนี้ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเศรษฐกิจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงยังไม่รวมนโยบายนี้ในคาดการณ์ GDP ของเราในตอนนี้ แต่เรายังคงมองว่ารัฐบาลภายใต้งบประมาณปี 2024F ยังคงสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกหลายมาตรการ เมื่อเทียบกับมาตรการที่มีจำกัดในปี 2023

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……

รายงานฉบับภาษาไทย Thai Version

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ English Version