Politics Strategy 9 May 2023, 04:49

Siam Senses – ประชานิยมเฟื่องฟู  


พรรคการเมืองส่วนใหญ่ใช้แต่นโยบายประชานิยมในการหาเสียง หลายนโยบายเรามองว่าสุดโต่งเกินไป และจะส่งผลลบต่อการเติบโตเชิงโครงสร้างของประเทศซึ่งอ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอยิ่งขึ้น และเราเชื่อว่าหลายนโยบายไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้

ประชานิยมดึงคะแนนเสียง 

ในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้าก็จะถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. พรรคการเมืองส่วนใหญ่ได้เปิดเผยนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งแล้ว และพรรคการเมืองหลักทุกพรรคใช้นโยบายประชานิยมเป็นหลักในการแข่งกันหาเสียง ซึ่งรวมทั้งฝ่ายค้านรุ่นใหม่อย่างพรรคก้าวไกล เราไม่เห็นนโยบายที่จะช่วยยกระดับการเติบโตเชิงโครงสร้างของประเทศได้ เช่นนโยบายโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนอื่นๆ และไม่เห็นนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใดๆ ที่แข่งกันเป็นหลักในหลายๆพรรคคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่านบัตรสวัสดิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ส่วนนโยบายประชานิยมที่สุดโต่งที่สุดในมุมมองเราคือมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเรามองว่างบประมาณรวมอยู่ในระดับอันตราย Exhibit 1 แสดงนโยบายที่ใช้หาเสียงของพรรคการเมืองหลักๆ

นโยบายเพื่อไทยใช้เงินสูงสุด

พรรคเพื่อไทยมักจะนำเสนอนโยบายประชานิยมในเชิงรุกมากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้ง และครั้งนี้พรรคมีนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท แก่คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และจะไม่ลดหรือตัดเงินสวัสดิการในปัจจุบัน นโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณ 5.5 แสนลบ. (2.8% ของ GDP) นโยบายที่เป็นที่ถกเถียงกันอีกนโยบายหนึ่ง คือการเติมรายได้ให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเราประเมินคร่าวๆ เองว่า จะต้องใช้งบประมาณราวปีละ 4.25 แสนลบ. (2.1% ของ GDP) นอกจากนี้ยังเสนอนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน (จาก 350 บาท ในปัจจุบัน) และเงินเดือนระดับปริญญาตรีขั้นต่ำที่ 25,000 บาท ภายในปี 2027 ซึ่งนโยบายนี้ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น นอกจากความตั้งใจที่จะดึงคะแนนนิยมแล้ว เรามองว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เป็นทางลัดให้เพื่อไทยเปลี่ยนแพลตฟอร์มการจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐบาลปัจจุบัน และแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นแพลตฟอร์มแบรนด์ใหม่ของเพื่อไทย

ประชานิยมลดการเติบโตเชิงโครงสร้าง

แม้ว่านโยบายประชานิยมจะสามารถผลักดันการบริโภคในระยะสั้น แต่จะไปลดจำนวนเงินที่รัฐบาลนำไปใช้กับรายจ่ายลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าในระยะยาว เรามองว่างบการลงทุน 6.91 แสนลบ. ในปี 2024 จะโดนตัดเพื่อไปใช้ในทำนโยบายประชานิยมแทน ซึ่งจะยังไม่พอและจะต้องมีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณและหนี้สิน จริงอยู่ที่การใช้จ่ายประชานิยมจะส่งผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจ (multiplier effect) แต่ผลทวีคูณจากประชานิยมมักไม่ยั่งยืน และน้อยกว่าผลจากการใช้จ่ายด้านการลงทุนอยู่มาก ดังนั้น เราเชื่อว่าประชานิยมในทางทฤษฎีอาจเป็นผลลบสุทธิต่อการเติบโตของ GDP ในระยะยาว

ประชานิยมช่วยการบริโภคมากที่สุด

เนื่องจากนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นการแจกเงินเพิ่มเติม ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างชัดเจนคือภาคการบริโภค แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายส่วนใหญ่จับกลุ่มเป้าหมายคนจนและผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะเห็นการใช้จ่ายกระจายไปตามหมวดสินค้าและช่องทางการค้าแบบกระจัดกระจาย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมซึ่งไม่ใช่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเราไม่เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตหรือบริษัทค้าปลีกจะได้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับนโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากในระยะสั้นเพราะใช้เงินจำนวนมาก แต่จะไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และเราไม่เชื่อว่านโยบายจะทำได้เต็มที่ในรูปแบบที่ประกาศไว้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……

รายงานฉบับภาษาไทย Thai Version

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ English Version